4 สายพันธุ์กัญชายอดนิยม และกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ผ่านการรับรอง

4 สายพันธุ์กัญชายอดนิยม และกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ผ่านการรับรอง

หากพูดถึงกัญชา หลายคนคงรู้จักกันในฐานะของพืชที่เป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งฟังดูเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะมีสารที่สามารถก่อให้เกิดอาการเสพติดและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แต่รู้หรือไม่ว่าหากใช้อย่างเหมาะสมก็ให้คุณประโยชน์ด้วยเช่นกัน! จนเมื่อไม่นานมานี้ กัญชาจึงกลายเป็นพืชที่ได้รับการรับรองในประเทศไทยและกำลังมีอิทธิพลอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ซึ่งจากคำถามที่ว่ากัญชามีกี่สายพันธุ์ ก็ต้องบอกเลยว่าแท้จริงแล้วกัญชามีหลายร้อยสายพันธุ์มาก แต่ในปัจจุบันกัญชาที่ได้รับความนิยมโดยทั่วไป รวมถึงในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์หลักๆ และแต่ละสายพันธุ์ก็ยังให้ฤทธิ์และสรรพคุณที่ไม่เหมือนกัน บทความนี้จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสายพันธุ์กัญชาชนิดต่างๆ ที่ได้รับความนิยม รวมไปถึงสายพันธุ์กัญชาของไทยที่ได้รับการรับรองและเป็นที่นิยมไปทั่วโลกว่ามีอะไรบ้าง แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้ทุกคนสามารถเลือกบริโภคได้ตามความต้องการ และปลอดภัยในการใช้กัญชา

4 สายพันธุ์กัญชายอดฮิต ที่พบได้บ่อย

กัญชาเป็นพืชสกุล Cannabis ชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในวงศ์ของ Cannabaceae โดยสายพันธ์ุกัญชาที่ได้รับความนิยม และพบได้บ่อยได้แก่ สายพันธุ์ซาติว่า (Cannabis Sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis Indica) สายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis) และสายพันธุ์กัญชาแบบไฮบริด (Hybrid)

สายพันธุ์ซาติว่า (Sativa)

กัญชา Sativa (Cannabis Sativa) มีชื่อมาจากภาษาละตินคำว่า Sativa คือ การเพาะปลูก สายพันธุ์กัญชาซาติว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างเม็กซิโก โคลัมเบีย ตอนกลางของทวีปแอฟริกาและภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์กัญชาซาติว่ามีสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งออกฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นประสาทที่แรงกว่าสายพันธุ์กัญชาอินดิกา จึงนิยมใช้ในตอนกลางวัน หรือใช้ในการสังสรรค์เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกสนุกสนาน ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า และพูดคุยสนุกขึ้น โดยสายพันธุ์กัญชาซาติว่าใช้เวลาประมาณ 9-16 สัปดาห์ในการเจริญเติบโตจนพร้อมต่อการเก็บเกี่ยว 

สายพันธุ์อินดิกา (Indica)

กัญชา Indica (Cannabis Indica) มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดียและบริเวณตะวันออกกลาง จึงได้ชื่อว่า Indica ตามประเทศอินเดียสถานที่อันเป็นต้นกำเนิด สายพันธุ์กัญชาอินดิกามีสาร CBD หรือ Cannabidiol ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาทจึงมักนำมาใช้เพื่อลดอาการแพนิค ลดความกังวล คลายความเครียด ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น รวมไปถึงมีฤิทธิ์ช่วยลดการเจ็บปวดอีกด้วย ทำให้ได้รับความนิยมในการนำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชา ใช้ในผู้ป่วยไมเกรน รวมไปถึงผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียน จากการทำเคมีบำบัด หรือ คีโม โดยสายพันธุ์กัญชาอินดิกาใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงพร้อมต่อการเก็บเกี่ยวมาใช้งาน

สายพันธุ์รูเดอราลิส (Ruderalis)

สายพันธุ์กัญชารูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis) มีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางและทางตะวันออกของทวีปยุโรป หากเปรียบเทียบกันกับสายพันธุ์กัญชาซาติว่าแล้ว สายพันธุ์กัญชารูเดอราลิสจะมีสาร THC ที่น้อยกว่าและยังมีสาร CBD น้อยกว่าสายพันธุ์อินดิกา ทำให้อาจจะไม่ได้รับความนิยมในการนำมาบริโภคโดยตรง แต่มักถูกนำไปเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของกัญชาสายพันธุ์ไฮบริด เนื่องจากจุดเด่นของสายพันธุ์กัญชารูเดอราลิสคือ มีระยะการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และทนต่อสภาพอาการ เนื่องจากถิ่นกำเนิดมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นและแสงแดดน้อย จึงทำให้กัญชาสายพันธุ์ไฮบริดที่มีลูกผสมของสายพันธุ์นี้สามารถออกผลผลิตได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และทนต่อสภาพอากาศได้ดีอีกด้วย

สายพันธุ์ไฮบริด (Hybrid)

กัญชาไฮบริด (Hybrid) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กัญชาที่เกิดจากการนำกัญชา 3 สายพันธุ์ข้างต้นมาผสมกัน ซึ่งส่วนมากที่พบมักเป็นการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ซาติว่าและสายพันธุ์อินดิกา โดยกัญชาสายพันธุ์ไฮบริดนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเน้นในการบริโภคเชิงสรรทนาการ ด้วยการเพิ่มสาร THC ให้สูง ส่วนสาร CBD จะน้อยหรือมากก็ขึ้นอยู่กับการปรับแต่งสายพันธุ์ จึงมีฤทธิ์และระยะเวลาในการเจริญเติบโตที่เฉพาะตัวตามพ่อพันธ์ุและแม่พันธ์ุที่นำมาผสมกัน

สายพันธุ์กัญชาในไทยที่ผ่านการรับรอง

นอกจากกัญชา 4 สายพันธุ์หลักข้างต้นแล้ว ในประเทศไทยเองนั้นก็มีสายพันธุ์กัญชาที่พบได้บ่อยและผ่านการรับรองแล้วเช่นกัน จากการผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมายและได้รับการรับรองเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม จนผ่านการรับรองมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์กัญชาหางกระรอก สายพันธุ์กัญชาตะนาวศรีก้านขาว สายพันธุ์กัญชาตะนาวศรีก้านแดงและสายพันธุ์กัญชาหางเสือ

สายพันธุ์หางกระรอก

หางกระรอก เป็นสายพันธุ์กัญชาซาติว่าที่พบได้ในประเทศไทย มีชื่อเสียงในยุคของสงครามเวียดนามและมักเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Thai Stick เนื่องจากลักษณะเด่นของกัญชาหางกระรอกคือเป็นแท่งคล้ายไม้ โดยหางกระรอกนั้นมีค่าของสาร THC สูงมากถึงราว 18-22 เปอร์เซนต์ มีฤทธิ์ที่ทำให้ลดความเครียด ผู้เสพจะเกิดอาการเคลิ้ม รวมไปถึงเจริญอาหารด้วย

สายพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว

ตะนาวศรีก้านขาว เป็นอีกหนึ่งในกัญชาสายพันธุ์ซาติว่าที่พบได้ในประเทศไทย มีลักษณะเด่นที่ช่อดอกจำนวนมากและเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายกิ่ง ลำต้นจะเป็นทรงพุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกส้มและกลิ่นตะไคร้จึงฉุนน้อย

สายพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดง

ตะนาวศรีก้านแดง มีลักษณะเด่นคือช่อดอกจำนวนมากและเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งเช่นเดียวกันกับตะนาวศรีก้านขาว แต่จุดที่แตกต่างกันคือสีที่ก้าน กิ่งและก้านใบจะเป็นสีแดง เป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีกลิ่นฉุน มักส่งกลิ่นคล้ายกับกลิ่นผลไม้สุก มีสาร CBD ที่ให้การระงับประสาทสูง จึงนำฤทธิ์ไปใช้ในทางการแพทย์ได้ประโยชน์มาก

สายพันธุ์หางเสือ

สายพันธุ์กัญชาหางเสือ สายพันธุ์ของประเทศไทยที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่รูปร่างของช่อดอกยาวคล้ายหางเสือ มีกลิ่นคล้ายเปลือกส้มที่ฉุนกว่าตะนาวศรีก้านขาว

สารที่พบได้ในกัญชาแต่ละสายพันธุ์

ในกัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีสารที่แตกต่างกันไป ซึ่งสารที่แตกต่างกันส่งผลให้เกิดการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันและนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ ซึ่งนอกจากประเภทของสารที่แตกต่างกันแล้ว สายพันธุ์กัญชาแต่ละสายพันธุ์ก็ยังมีปริมาณของสารที่ไม่เหมือนกัน ในการควบคุมการใช้งานและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเลือกใช้สายพันธุ์กัญชาให้ตรงต่อความต้องการและคุณประโยชน์จึงต้องมีการศึกษาฤทธิ์ของสารในกัญชาแต่ละสายพันธุ์อย่างถี่ถ้วน ซึ่งสารที่สำคัญในกัญชาแต่ละสายพันธุ์คือ CBD หรือ Cannabidiol ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาท และสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท

สาร CBD

สาร CBD หรือ Cannabidiol เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการระงับประสาท จึงมักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือสาธารณสุข สาร CBD จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งส่วนที่สำคัญในทางการแพทย์ของสาร CBD คือการที่สาร CBD ไม่มีผลต่อจิตประสาทและไม่ส่งผลให้เกิดอาการเสพติด จึงเหมาะต่อการนำมารักษาและใช้คุณประโยชน์ทางการแพทย์

สาร THC

สาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol เป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท อาจได้ยินกันในชื่อ ‘สารเมา’ อย่างแพร่หลาย เป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและอาจก่อให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งสาร THC จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ในขั้นตอนของการสกัดกัญชา จึงต้องมีการศึกษาและควบคุมปริมาณของสาร THC และสาร CBD เพื่อป้องกันการเสพติดและผลต่อจิตประสาทเมื่อใช้งานกัญชา หากผู้ที่ใช้งานกัญชาได้รับสาร THC ในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ถูกกระตุ้นประสาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการใจสั่น ไม่สามารถควบคุมสติได้ เกิดความแปรปรวน
  • เกิดอาการหวาดระแวงและประสาทหลอน อาจเกิดอาการแพนิค เห็นภาพหลอน หูแว่วได้
  • สมองทำงานแย่ลง เกิดอาการหลงลืม ความจำระยะสั้นแย่ลง
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชหรือมีประวัติคนในครอบครัวมีอาการของโรคจิตเวช จะเพิ่มโอกาสต่อการเกิดอาการประสาทหลอนถาวรหากใช้สาร THC มากเกินไป
  • ในกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีจะได้รับผลกระทบต่อระบบสมองเมื่อได้รับสาร THC มากเกินไป มีปริมาณเนื้อสมองลดลง 10% และเกิดผลเสียต่อความจำ

กัญชาเป็นพืชที่มีผลต่อระบบของประสาทและสมอง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบที่สำคัญอย่างสาร CBD ที่มีฤทธิ์ระงับประสาทแล้ว จึงถือว่าเป็นส่วนช่วยในทางการแพทย์เพื่อระงับความเจ็บปวดและลดความเครียดต่างๆ ได้ดี อย่างไรก็ตาม ในกัญชายังมีสาร THC ซึ่งออกมาพร้อมกับสาร CBD ในขั้นตอนของการสกัดกัญชา ซึ่งสารนี้เป็นสารเมาที่มีผลต่อจิตประสาทและก่อให้เกิดอาการเสพติด ในการเลือกสายพันธุ์กัญชาจึงต้องศึกษาและใช้งานอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงความต้องการและความปลอดภัย เพื่อให้ได้รับคุณประโยชน์โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียทางจิตประสาทและไม่ก่อให้เกิดอาการเสพติด

สำหรับในตอนนี้ ดอกกัญชา 16 สายพันธ์ุ เราปลูกเสร็จแล้ว สามารถมีขายให้กับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่นี่

ติดต่อฟาร์ม

Phone Number

Social contact

สอบถามผ่านไลน์

Line@ Id@ixx7178q
Scroll to Top